Chanida:075 การจัดการเรียนรู้แบบปฏิบัติการหรือแบบทดลอง (Loboratory Method)


การจัดการเรียนรู้แบบปฏิบัติการหรือแบบทดลอง
(Loboratory Method)
Ø ทฤษฎี/แนวคิด
การจัดการเรียนรู้แบบปฏิบัติการหรือแบบทดลอง เป็นวิธีสอนที่พัฒนามาจากความคิดและผลงานของนักการศึกษาในอดีต เช่น Pestalozzi, Deines และ Dewey  ซึ่งมีความเชื่อว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้จากการปฏิบัติจริง  ต่อมามีการใช้การสอนแบบปฏิบัติการในประเทศอังกฤษโดยให้นักเรียนรู้มโนมติที่สำคัญๆ จากการปฏิบัติจริง ในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา Keneth Kidd,William  Fitzgerald และ David Clarkson เป็นผู้เผยแพร่วิธีสอนแบบนี้ โดยมีความเชื่อมั่นว่าวิธีสอนแบบปฏิบัติการเป็นวิธีสอนที่ดีที่ฝึกให้นักเรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหา การสอนวิธีนี้เริ่มมีการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์ ในการศึกษาค้นคว้าทดลองที่ใช้สารเคมีในการตรวจสอบวิเคราะห์ ต่อมากลายเป็นกระบวนการสอนที่อาศัยการทดลองเครื่องมือ และวัสดุต่างๆในปัจจุบัน
การสอนแบบปฏิบัติการหรือแบบทดลองไม่ได้ใช้ในเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังใช้สอนในวิชาอื่นๆ อีกด้วย เช่น การสอนคณิตศาสตร์
Ø ความหมาย
การจัดการเรียนรู้แบบปฏิบัติการหรือแบบทดลองเป็นการสอนที่มุ่งให้ผู้เรียนพบประสบการณ์ตรงจากการปฏิบัติจริงและช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยการให้ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดปัญหาและสมมติฐาน ในการทดลอง และลงมือทดลองปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดโดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลสรุปอภิปรายผลการทดลองและสรุปการเรียนรู้ที่ได้รับจากการทดลอง เมื่อนักเรียนได้ทดลองเองแล้วจะทำให้เกิดความรู้จริง แล้วนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
Ø ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบปฏิบัติการหรือแบบทดลอง
ขั้นตอนการสอนแบบปฏิบัติการหรือแบบทดลอง มี 5 ขั้นดังนี้
1. ขั้นเตรียมการทดลอง      
1.1 กำหนดจุดประสงค์ ผู้สอนต้องศึกษาหลักสูตร คู่มือครู หรือแผนการสอน แล้วตั้งจุดประสงค์การสอนให้ชัดเจนว่าต้องการให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมแต่ละด้านอย่างไรบ้าง จากการเรียนด้วยการลงมือทดลองปฏิบัติ
1.2 วางแผนการทดลอง เป็นขั้นที่ผู้สอนต้องลำดับขั้นตอนการสอนและเตรียมกำหนดกิจกรรมไว้ล่วงหน้าว่าจะนำเข้าสู่บทเรียนอย่างไร ให้ผู้เรียนได้ทดลองตามลำดับขั้น สรุปผลการทดลองและเสนอผลอย่างไรบ้าง หรือโดยวิธีใดเป็นต้น       
1.3 จัดเตรียมวัสดุและเครื่องมือตลอดจนแบบบันทึกผลการทดลอง และแบบประเมินผล ผู้สอนต้องเตรียม ให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียน
1.4 ตรวจสอบความถูกต้องและประสิทธิภาพของเครื่องมือวัสดุที่ใช้ ผู้สอนควรได้ทดลองใช้เครื่องมือก่อนสอน เพื่อให้เห็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า และเพื่อประโยชน์ในการแนะนำ ตักเตือนผู้เรียนในขณะทดลอง
1.5 เตรียมแบ่งกลุ่มผู้เรียน ผู้สอนกำหนดกลุ่มผู้เรียนให้เหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนได้เรียนรู้วิธีการทดลองอย่างทั่วถึง การแบ่งกลุ่มผู้เรียนต้องสอดคล้องกับจำนวนวัสดุ เครื่องมือ อุปกรณ์ที่มีอยู่
2. ขั้นทดลอง
2.1 ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เป็นขั้นเร้าความสนใจ ผู้สอนควรแจ้งจุดประสงค์การทดลองขั้นตอนวิธีการทดลอง แนะนำการใช้เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ให้ผู้เรียนได้ทราบบทบาทของตน และให้ศึกษาคู่มือปฏิบัติการก่อนการลงมือทดลอง
2.2 ขั้นทดลอง ผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการทดลองโดยมีผู้สอนคอยดูแลแนะนำช่วยเหลือถ้าเป็นการทดลองที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ผู้สอนต้องควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด
3. ขั้นเสนอผลการทดลอง ผู้เรียนนำเสนอผลการทดลอง และรายละเอียดประกอบ เช่นโครงการทดลองการเตรียมการ วิธีการทดลองและผลที่ได้รับจากการทดลอง
4. ขั้นอภิปรายสรุปผล ในขั้นนี้ผู้เรียนจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ตนได้รับ เช่นบางกลุ่มอาจได้ผลการทดลอง ที่คลาดเคลื่อน จะได้ช่วยกันวิเคราะห์หาสาเหตุว่า ผิดพลาด ที่ขั้นตอนใด และมีแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างไรผู้สอนจะมีบทบาทในการให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม ย้ำประเด็นสำคัญและสรุปหลักการ ความคิดรวบยอดที่ได้จากการทดลอง
5. ขั้นประเมินผล เมื่อการอภิปรายสรุปผลเสร็จ ผู้สอนควรประเมินผลผู้เรียนในด้านต่างๆและแจ้งให้ผู้เรียนทราบเพื่อการปรับปรุงแก้ไขในการทดลองในครั้งต่อไป เช่น ประเมินด้านการใช้เครื่องมือ ด้านความละเอียดรอบคอบในการทดลอง ด้านการจดบันทึกผลการทดลอง ด้านการรายงานผล ด้านการให้ความร่วมมือกับกลุ่มเป็นต้น





Ø ตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้แบบปฏิบัติการหรือแบบทดทลอง
ตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้แบบทดทลอง
เรื่อง การตอบสนองต่อสิ่งเร้า
สาระสำคัญ
สิ่งมีชีวิตมีการรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระทบ เช่น แสง เสียง อุณหภูมิและการสัมผัส
จุดประสงค์
1. อธิบายเกี่ยวกับการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของพืชและสัตว์ได้
2. ทดลองและอธิบายผลของการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของพืชและสัตว์
สาระการเรียนรู้
การตอบสนองต่อสิ่งเร้า
กระบวนการจัดการเรียนรู้
1. ขั้นเตรียมการทดลอง
1.1 ผู้สอนแจ้งจุดประสงค์การเรียน
1.2 ผู้สอนสำรวจบริเวณโรงเรียนที่มีต้นไมยราบ
1.3 ผู้สอนจัดเตรียมน้ำแข็ง น้ำอุ่น น้ำร้อน
1.4 ผู้สอนแบ่งกลุ่มผู้เรียนออกเป็น 4 กลุ่ม
2. ขั้นทดลอง
2.1 ผู้เรียนดูรูปภาพเกี่ยวกับฤดูกาลต่าง ๆ แล้วร่วมกันอภิปรายความรู้สึก
2.2 ผู้สอนให้ผู้เรียนร่วมกันวางแผนการสำรวจ วิธีการสังเกต การทดลอง และสำรวจอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลอง
2.3 ผู้เรียนแต่ละกลุ่มแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในการทำงาน
2.4 ผู้เรียนเริ่มปฏิบัติการสังเกต การทดลอง การตอบสนองต่อสิ่งเร้าของพืชและสัตว์ ตามใบงานในเรื่องดังนี้
2.4.1 เมื่อใช้มือหรือไม้สัมผัสต้นไมยราบมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
2.4.2 เมื่อนำน้ำแข็งถูแขนจะเกิดอะไรขึ้น
2.4.3 เมื่อใช้มือจับแก้วน้ำร้อน เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น
2.4.4 เมื่อใช้มือจับแก้วน้ำอุ่น เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น
2.4.5 เขียนบันทึกลงในสมุด
3. ขั้นเสนอผลการทดลอง
ผู้เรียนช่วยกันอภิปรายผลทุกรายการสำรวจ ทดลอง และช่วยกนคิดว่ามีพืชและสัตว์ชนิดอื่นอีกหรือไม่ที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าด้วยวิธีการต่างๆ
4. ขั้นอภิปรายและสรุปผล
4.1 ผู้เรียนช่วยกันอภิปรายผลทุกการสำรวจ ทดลองและช่วยกันคิดว่ามีพืชและสัตว์ชนิดอื่นอีกหรือไม่ที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าด้วยวิธีการต่างๆ
4.2 ผู้สอนอธิบายความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของพืชและสัตว์ในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การปฏิบัติตนที่ถูกวิธีเมื่อสัมผัสความร้อนและความเย็น
5. ขั้นประเมินผล ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันสรุปสาระการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการตอบสนองต่อสิ่งเร้า
สื่อการเรียนรู้
1. บริเวณโรงเรียนที่มีต้นไมยราบ
2. น้ำแข็ง
3. น้ำอุ่น
4. น้ำร้อน
5. แก้วน้ำ
การวัดและประเมินผล
1. สังเกตการณ์ทำกิจกรรม
2. สังเกตจากการตอบคำถาม
3. ประเมินจากการนำเสนอผลงาน     



Ø ข้อดีและข้อจำกัดของการจัดการเรียนรู้แบบปฏิบัติการหรือแบบทดลอง
 ข้อดี
1. ผู้เรียนได้ประสบการณ์ตรงในการเรียนรู้ขณะลงมือปฏิบัติการทดลองด้วยตัวเอง
2. ผู้เรียนเกิดทักษะกระบวนการในการใช้ความคิดอย่างมีเหตุผล
3. ผู้เรียนมีทักษะในการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ
4. ผู้เรียนได้ทักษะของการเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การสังเกต การฝึกปฏิบัติการค้นคว้าหาข้อมูล เป็นต้น 
5. ผู้เรียนสามารถนำผลจากการทดลองไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการศึกษาขั้นต่อไปและในชีวิตจริง
6. ผู้เรียนเกิดความรู้สึกสนุกและตื่นเต้นกับการทดลองทำให้บทเรียนน่าสนใจยิ่งขึ้น
ข้อจำกัด
1.ในการดำเนินการทดลองถ้ากระทำผิดขั้นตอนอาจเกิดอันตรายได้
2. อาจเสียเวลาในการเรียนการสอนมากเพื่อรอผลการทดลอง
3. การสอนแบบทดลองบางครั้งต้องใช้ทรัพยากรมากทำให้มีการลงทุนสูง
4. ในบางครั้งถ้าเป็นการทดลองโดยกลุ่มอาจมีผู้เรียนหรือสมาชิกของกลุ่มหลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานทำให้การเรียนการสอนไม่บรรลุวัตถุประสงค์เท่าที่ควร

ที่มา
ชาญชัย ยมดิษฐ์. (2548). เทคนิคและวิธีการสอนร่วมสมัย. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ: หลักพิมพ์. 
           สืบค้นวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2561.
ชัยวัฒน์ สุทธิรัตย์. (2553). 80 นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ. กรุงเทพฯ: แดเน็กซ์ 
          อินเตอร์ คอร์ปอเรชั่นสืบค้นวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2561.
อาภรณ์ ใจเที่ยง. (2540). หลักการสอน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: โอ.เอล. พริ้นติ้ง เฮ้าส์.                   
         สืบค้นวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2561.
http://chanruang.blogspot.com/2009/02/blog-post_7529.html. [online] เข้าถึงเมื่อวันที่ สิงหาคม พ.ศ. 2561.



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

075Chanida:ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (Constructionism)

075 Chanida :ทฤษฎีมนุษย์นิยม (Humanism)